ข้อมูลพื้นฐาน
องค์การบริหารส่วนตำบลกมลา
          เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2538 ตั้งอยู่ในตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่รับผิดชอบ รวม 18.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 10,813 ไร่ มีเขตการปกครอง 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านบางหวาน หมู่ที่ 2 บ้านเหนือ หมู่ที่ 3 บ้านนอกเล หมู่ที่ 4 บ้านโคกยาง หมู่ที่ 5 บ้านหัวควน และหมู่ที่ 6 บ้านนาคา กมลา มีอาณาเขต ดังนี้ ทิศเหนืออาณาเขตติดต่อกับ ตำบลเชิงทะเล ทิศใต้อาณาเขตติดต่อกับเทศบาลเมืองป่าตอง ทิศตะวันออกอาณาเขตติดต่อกับเทศบาลเมืองกะทู้ และทิศตะวันตก อาณาเขตติดต่อกับ ทะเลอันดามัน

สภาพภูมิประเทศ
          เป็นภูเขาสลับกับที่ราบ และที่ราบลงสู่ทะเล ริมฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีเทือกเขากมลาล้อมรอบ 3 ด้าน มีแนวชายหาดกว้าง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ที่มีประชากรหนาแน่น เป็นย่านแหล่งท่องเที่ยว ย่านธุรกิจ โรงแรมและสถานบันเทิงต่างๆ

สภาพเศรษฐกิจ

          ประชากรในตำบลกมลาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การบริการ การเกษตร การประมง และการปศุสัตว์
ตำบลกมลา เป็นตำบลในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

        ชื่อนี้เป็นชื่อเดียวกับ กราบาลา หรือ อ่าวลึก นั้นเอง แต่ได้เพี้ยนจาก กราบาลา ไปเป็น กรามาลา และ กรามารา แล้วกลายเป็น "กำมะรา" ชื่อ กำมะรา นี้ได้ใช้กันมาจนกระทั่ง ทำเนียบท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2486 หลังจากนั้นจึงมีผู้เกิดความคิดขึ้นว่า กำมะรา แปลไม้ได้ จึงได้เปลี่ยนให้เป็น กมลา เป็นภาษาไทยผสมอินเดีย แปลว่า ดอกบัว ซึ่งมีตำนานเล่าขานกันว่า มีชาวบ้านคนหนึ่ง ชื่อ ตายมดิง บ้านเดิมอยู่ที่ ต.กะรน อ.เมือง มีอาชีพทำสวนกล้วยที่ ตำบลป่าตอง นอกจากนี้แกเป็นคนแก่เรียน มีตำรามากมายเก็บไว้ที่ตำบลป่าตอง มีอาวุธประจำกายคือ หอก ซึ่งใหญ่มาก ไม่สามารถแบกได้เหมือนหอกทั่วไป จำเป็นต้องลากอยู่เป็นประจำ คือ ลากจากป่าตอง เพื่อทำสวนกล้วย ลากไปตำบลกมลาเพื่อศึกษาตำรับตำรา และลากกลับบ้าน เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดชีวิต หมู่บ้านที่เก็บตำราของตายมดิง จึงกลายเป็นบ้านกมลา ปัจจุบันคำว่า ตำรา ภาษาพูดถิ่นใต้ จะพูดว่า ตำมหรา และอาศัยสำเนียงใต้นี้เอง


        กมลาจะมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ ชายหาด สวนยางพารา รวมถึง สวนสมพรม (สวนที่มีผลไม้หลาย ๆ ชนิดรวมกันอยู่ในสวนเดียวกัน เช่น ทุเรียน สะตอ กล้วย จำปาดะขนุน ลองกอง ลางสาด เงาะบ้าน เป็นต้น) และถ้าจะกล่าวถึงกมลา ก็จะต้องกล่าวถึงทุเรียนกมลา เพราะเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อของตำบลกมลา ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บนภูเขา ทำให้คำที่ชายบ้านพูดปากต่อปาก เวลาที่จะไปทำสวน แหล่งน้ำที่ชาวกมลาใช้สอย ได้มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ดำเนินชีวิตด้วยการหาของป่ามาทำเป็นอาหารเพื่อประทังชีวิต ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องซื้อ ด้วยเหตุผลที่ว่า มีปลาจากทะเล มีผัก ผลไม้จากสวน ส่วนนาข้าว เมื่อก่อนตำบลกมลามีการปลูกข้าวเพื่อใช้กินกันในเฉพาะครัวเรือนไม่ได้มีการค้าขาย แต่ปัจจุบันนาปลูกข้าวได้เปลี่ยนไปเป็นอาคารที่อยู่อาศัยไปเสียหมดแล้ว จากธรรมชาติที่สวยงาม ทุ่งหญ้าเขียวขจีได้เปลี่ยนไปเป็น บ้านพักตากอากาศ โรงแรม เป็นเพราะการท่องเที่ยวมีความเจริญมากขึ้น จึงส่งผลให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอย่างเนืองแน่น ได้เข้ามาประกอบอาชีพ และท่องเที่ยวซึ่งมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาในภูเก็ต วิถีชีวิตได้เปลี่ยนจากความเรียบง่ายแบบชุมชนชนบท มาเป็นวิถีชีวิตแบบชุมชนเมืองแทน